ไวรัสตับอักเสบเอ บีและซี
Table of Contents
ไวรัสตับอักเสบ(Viral Hepatitis)?
ภาวะตับอักเสบคือการที่เซลล์ตับมีการอักเสบและเสียการทำงานโดยมีสาเหตุหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการดื่มแอลกอฮอล์ การได้รับสารพิษ การแพ้ยา แต่สาเหตุหลักคือการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบนั่นเองโดยไวรัสตับอักเสบที่พบได้บ่อยคือ คือตับอักเสบเอ บีและซี โดยการติดเชื้อสามารถนำไปสู่ภาวะตับแข็งและการเกิดมะเร็งตับได้ โดยไวรัสตับอักเสบบีและซีเป็นสาเหตุหลักของการเกิดมะเร็งตับในคนไทย
ความแตกต่างของไวรัสตับอักเสบ A B และ C?
แม้ว่าไวรัสทั้งสามตัวสามารถทำให้เกิดอาการแสดงเหมือนๆกัน แต่ไวรัสทั้งสามตัวทำให้เกิดอาการอักเสบต่อตับต่างกันและมีช่องทางของการติดเชื้อต่างกัน โดยไวรัสตับอักเสบ A มักจะทำให้เกิดการติดเชื้อในระยะสั้นๆและหายได้เอง ส่วนไวรัสตับอักเสบ B และ C นั้นอาจเริ่มจากการติดเชื้อในระยะสั้นๆและในบางคนเชื้อจะยังคงอยู่ในร่างกายส่งผลให้เกิดภาวะตับอักเสบเรื้อรังได้ โดยปัจจุบันไวรัสตับอักเสบ A และ B มีวัคซีนป้องกันแต่ไวรัสตับอักเสบ C ยังไม่มีวัคซีน
ไวรัสตับอักเสบเอ (HepatitisA)?
การติดต่อ
เชื้อไวรัสตับอักเสบเอนั้นติดต่อกันจากการปนเปื้อนผ่านอุจาระและอาหาร ดังนั้นช่องทางที่สามารถทำให้ติดเชื้อได้จะมี
- การรับประทานอาหารและน้ำที่มีเชื้อปนเปื้อน
- การมีเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อ(โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก)
อาการเมื่อมีการติดเชื้อ
ไม่ใช่ทุกคนที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบเอจะมีอาการ และหากมีอาการ อาการที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบเอมักเป็นอาการเฉียบพลัน และอาการมักจะเป็นไม่เกิน 2 เดือนโดยอาการที่พบได้มีดังนี้
- ไข้
- อ่อนเพลีย
- เบื่ออาหาร
- คลื่นไส้อาเจียน
- ปวดท้อง
- ท้องเสีย
- ปัสสาวะสีเข้ม
- อุจจาระสีซีด
- ตัวเหลืองตาเหลือง
- ปวดข้อ
*ในเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปีมักจะไม่มีอาการแสดงให้เห็นชัดเจน
การตรวจวินิจฉัย
การวินิจฉัยไวรัสตับอักเสบเอจะทำโดยการซักประวัติตรวจร่างกายโดยแพทย์ร่วมกับการตรวจเลือด
การดูแลรักษา
การรักษาไวรัสตับอักเสบเอจะเป็นการรักษาตามอาการ เป็นการให้สารน้ำ พักผ่อน โดยมากอาการจะไม่ได้รุนแรงมากและสามารถหายได้เองโดยไม่ต้องนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาล
การป้องกัน
การป้องการที่ดีที่สุดคือการฉีดวัคซีนโดยจะฉีดทั้งหมด 2 เข็มที่ 0 และ 6 เดือน ก็จะทำให้มีภูมิคุ้มกันไปตลอดชีวิต
ไวรัสตับอักเสบบี (HepatitisB)?
การติดต่อ
ไวรัสตับอักเสบบีสามารถติดต่อกันได้ผ่านเลือดและสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อโดยช่องทางการติดที่เกิดขึ้นได้มีดังนี้
- การติดจากแม่สู่ลูกตอนคลอด
- เพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อ
- การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน
- การใช้แปรงสีฟันและใบมีดโกนร่วมกัน
- การสัมผัสเลือดหรือสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ
- การถูกเข็มตำหรือของมีคมที่ปนเปื้อนเลือดหรือสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ
อาการเมื่อมีการติดเชื้อ
อาการของการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีจะแบ่งเป็น ระยะเฉียบพลันและระยะเรื้อรัง
ระยะเฉียบพลัน(Acute hepatitisB)
คืออาการที่สามารถเกิดขึ้นได้ภายในช่วง 6 เดือนหลังมีการรับเชื้อ
- ไข้
- อ่อนเพลีย
- เบื่ออาหาร
- คลื่นไส้อาเจียน
- ปวดท้อง
- ท้องเสีย
- ปัสสาวะสีเข้ม
- อุจจาระสีซีด
- ตัวเหลืองตาเหลือง
- ปวดข้อ
- โดยความรุนแรงของอาการในแต่ละคนจะแตกต่างกันไป บางคนอาจไม่มีอาการเลย แต่บางคนอาจมีอาการรุนแรงจนต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลระยะเรื้อรัง(Chronic hepatitisB)ไม่ใช่ทุกคนที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีแล้วจะกลายเป็นตับอักเสบเรื้อรัง โดยปัจจัยที่เข้ามาเกี่ยวข้องที่สุดคืออายุ การติดเชื้อในทารกจะมีโอกาสถึง 90% ที่จะกลายเป็นตับอักเสบเรื้อรัง การติดเชื้อในวัยเด็กมีโอกาสประมาณ 25-50% ในทางกลับกัน 95% ของผู้ใหญ่ที่ได้รับเชื้อสามารถหายขาดจากโรคได้โดยไม่กลายเป็นตับอักเสบเรื้อรัง โดยภาวะตับอักเสบเรื้อรังนี้สามารถนำไปสู่ภาวะตับแข็ง มะเร็งตับ และการเสียชีวิตได้
การตรวจวินิจฉัย
การวินิจฉัยสามารถทำได้จากการตรวจเลือด โดยการตรวจ HBsAg สามารถตรวจได้หลังจากมีการติดเชื้อประมาณ 4 สัปดาห์
การดูแลรักษา
การดูแลรักษาในระยะเฉียบพลันที่มีอาการจะเป็นการรักษาตามอาการ และจะมีการตรวจติดตามผลเลือดว่ามีการเปลี่ยนไปเป็นการติดเชื้อแบบเรื้อรังหรือไม่ หากพบว่ามีการติดเชื้อเรื้อรังแพทย์ระบบทางเดินอาหารจะมีการให้ยาต้านไวรัสและมีการตรวจติดตามการทำงานของตับรวมถึงการทำ ultrasound ตับอย่างสม่ำเสมอเพื่อเฝ้าระวังภาวะตับแข็งและมะเร็งตับ
การป้องกัน
การป้องการที่ดีที่สุดคือการฉีดวัคซีนโดยจะฉีดทั้งหมด 3 เข็มที่ 0,1 และ 6 เดือน ก็จะทำให้มีภูมิคุ้มกันไปตลอดชีวิต
ไวรัสตับอักเสบซี (HepatitisC)?
การติดต่อ
ช่องทางการติดต่อของไวรัสตับอักเสบซีคือผ่านทางเลือดโดยช่องทางหลักคือ
- การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน
- การติดจากแม่สู่ลูกตอนคลอด
ส่วนช่องทางเหล่านี้สามารถทำให้เกิดการติดเชื้อได้แม้โอกาสติดค่อนข้างต่ำ
- เพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกัน
- การใช้แปรงสีฟัน มีดโกนร่วมกัน
- การสัก
- การรับบริจาคโลหิต
- การถูกมีดบาดและเข็มปนเปื้อนตำในสถานพยาบาล
อาการเมื่อมีการติดเชื้อ
สำหรับไวรัสตับอักเสบซีผู้ติดเชื้อมักไม่มีอาการหรือมีอาการเพียงเล็กน้อย โดยอาการที่เกิดขึ้นได้จะเหมือนกับของไวรัสตับอักเสบเอและบีคือ
- ไข้
- อ่อนเพลีย
- เบื่ออาหาร
- คลื่นไส้อาเจียน
- ปวดท้อง
- ท้องเสีย
- ปัสสาวะสีเข้ม
- อุจจาระสีซีด
- ตัวเหลืองตาเหลือง
- ปวดข้อ
อย่างไรก็ตามถึงแม้ไวรัสตับอักเสบซีมักจะไม่ได้ก่อให้เกิดอาการรุนแรงเฉียบพลันแต่มากกว่า 50% ของผู้ติดเชื้อจะทำให้ให้เกิดภาวะตับอักเสบเรื้อรังหากไม่ได้รับการรักษา และนำไปสู่ภาวะตับแข็งและมะเร็งตับได้
การตรวจวินิจฉัย
การวินิจฉัยสามารถทำได้จากการตรวจเลือด โดยการตรวจ anti-HCV จะแม่นยำที่สุดหลังจากการสัมผัสเชื้อมาแล้ว 8-11 สัปดาห์
การดูแลรักษา
การรักษาไวรัสตับอักเสบซีควรได้รับการตรวจติดตามและดูแลโดยแพทย์ระบบทางเดินอาหาร โดยปกติจะมีการใช้ยารับประทานในการรักษา 8-12 สัปดาห์ ร่วมกับมีการนัดตรวจติดตามเพื่อเฝ้าระวังภาวะตับแข็งและมะเร็งตับ
การป้องกัน
ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนที่ใช้ป้องกันไวรัสตับอักเสบซี ดังนั้นการป้องกันที่ทำได้คือการเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงของการติดเชื้อ