ยา PEP คืออะไร?

การใช้ยา PEP หรือ post-exposure prophylaxis คือการที่แพทย์นำยาต้าน HIV มาจ่ายให้กับผู้ที่เพิ่งไปมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ HIV มาในระยะเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมง เพื่อป้องกันไม่ให้คนคนนั้นติด HIV เช่น กรณีถุงยางอนามัยแตก ถูกข่มขืน มีเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้าโดยไม่ได้ป้องกัน สัมผัสกับสารคัดหลั่งของผู้มีเชื้อ HIV หรือบุคลากรทางการแพทย์ที่ถูกเข็มตำ มีดบาด หรือเลือดคนไข้กระเด็นเข้าตา เป็นต้น โดยยา PEP จะต้องทานไปทั้งสิ้น 4 สัปดาห์หลังจากมีความเสี่ยง

ยา-pep-post-exposure prophylaxis

ยา PEP ช่วยได้จริงไหม

การรับประทานยา PEP หลังจากได้รับความเสี่ยงจะมีประสิทธิภาพที่ช่วยป้องกันการติดเชื้อ HIV ได้หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการรับยาของกลุ่มเสี่ยงเอง โดยถ้าหากเกิดความเสี่ยงแล้ว หลังจากนั้นสามารถรับยาได้ภายใน 24 ชั่วโมง และรับต่อเนื่องตามที่แพทย์กำหนดคือประมาณ 28 วัน ยา PEP ก็จะมีประสิทธิภาพช่วยป้องกันได้ถึง 100% แต่หากรับประทานยาหลังจาก 24 ชั่วโมงที่ได้รับความเสี่ยงไปแล้วสามารถกินยาต่อเนื่องไม่ขาด 28 วัน ก็จะสามารถป้องกันได้ 70-80% แต่ก็นับว่าสูงและปลอดภัยอยู่มากพอสมควร

ใครบ้างควรรับ ยา PEP

ยา PEP เป็นยาที่จะรับเมื่อมีเหตุให้เสี่ยงได้รับเชื้อ HIV เกิดขึ้น โดยส่วนใหญ่มักเป็นเหตุฉุกเฉินที่ทำให้มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน จนทำให้ได้รับสารคัดหลั่งที่มีความเสี่ยงเข้ามาในร่างกาย เช่น การมีเพศสัมพันธ์แล้วถุงยางอนามัยแตก การถูกล่วงละเมิดทางเพศ ฯลฯ นอกจากนี้ ยังมีเหตุที่ต้องใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น และผู้ที่มีความเสี่ยงจากการทำงานเช่น แพทย์ ทันตแพทย์ เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ เป็นต้น โดยที่ผู้ได้รับความเสี่ยง แต่ยังไม่มีการติดเชื้อ HIV ก่อนรับยา PEP จะต้องมีการตรวจให้แน่ชัดว่ามีเชื้อ HIV อยู่หรือไม่ด้วย

ใครบ้างไม่ควรทานยา PEP

ยา PEP เป็นยาฉุกเฉินสำหรับการป้องกันการติดเชื้อ HIV จึงเหมาะสำหรับการใช้เมื่อเกิดความเสี่ยงที่ไม่คาดฝันและยังเป็นกรณีที่ผู้รับยาไม่ได้มีเชื้อ HIV อยู่ก่อน ดังนั้น ก่อนที่แพทย์จะจ่ายยา PEP ให้กับผู้ที่ต้องการลดความเสี่ยงจึงต้องมีการตรวจหาเชื้อ HIV ให้แน่ชัดเสียก่อนว่ายังไม่ติดนั่นเอง

สำหรับคนที่เป็นโรคไวรัสตับอักเสบบี ที่เห็นว่ามีการตรวจนั้น ไม่ใช่ว่าการเป็นโรคไวรัสตับอักเสบบีแล้วจะไม่สามารถรับยาได้ เพียงแต่การจ่ายยาจะมีการปรับสูตรเพื่อหลีกเลี่ยงยาที่มีผลต่อตับมากออกไป แต่ระดับการป้องกันก็ยังคงสามารถป้องกันความเสี่ยงได้ไม่ต่างกัน ทั้งนี้ ใครที่มีความเสี่ยงเกี่ยวกับตับควรทำตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดจะดีที่สุด

ยา PEP กับยา PrEP ต่างกันอย่างไร?

ยา PEP นั้นจะใช้ทานหลังจากที่มีความเสี่ยงในการรับเชื้อ HIV เกิดขึ้นมาแล้ว แต่ยา PrEP(pre-exposure prophylaxis) จะเป็นยาที่เอาไว้ทานก่อนที่จะไปมีความเสี่ยง โดยยา PrEP จะใช้ในผู้ที่รู้ตัวอยู่แล้วว่าตนเองมี life style ที่มีความเสี่ยงต่อการสัมผัสเชื้อ HIV เช่น มีการเปลี่ยนคู่นอนเป็นประจำ ทำอาชีพขายบริการ มีคู่นอนที่ทราบว่าเป็นผู้อยู่ร่วมกับเชื้อ HIV เป็นต้น

การใช้ยา PEP ป้องกันการติดเชื้อ HIV ได้ดีแค่ไหน

คำถามที่ผู้รับยา PEP ทุกคนอยากรู้คือยา PEP นั้นป้องกันการติดเชื้อ HIV ได้ดีแค่ไหน กันได้ 100% มั้ย คำตอบคือการใช้ยา PEP นั้นมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อ HIV หลังจากมีความเสี่ยงได้สูงเกือบจะ 100% (แต่ไม่ใช่ 100% นะครับ) เนื่องจากปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จของการใช้ยา PEP ในการป้องกันการติดเชื้อ HIV นั้นมีด้วยกันหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นลักษณะของความเสี่ยงที่ไปสัมผัสเชื้อมา ปริมาณ viral load ของอีกฝ่าย ความเร็วในการมารับยา PEP(ยิ่งมาได้เร็วยิ่งเพิ่มโอกาสในการป้องกันได้ดีขึ้น) การมีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆร่วม และตัวยาที่เลือกใช้

จะรับยา PEP ต้องทำอย่างไร?

หากสงสัยว่าตัวเองมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อ HIV เช่น ถุงยางอนามัยแตก มีเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้าโดยไม่ได้ป้องกัน(ไม่ว่าจะภายในหรือภายนอก) ถูกข่มขืน ไปสัมผัสเลือดหรือสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ HIV หรือเกิดอุบัติเหตุเข็มตำมีดบาดในสถานพยาบาล ขั้นตอนแรกให้รีบติดต่อและเข้ามาที่คลินิกหรือสถานพยาบาล เพื่อมาปรึกษาแพทย์และตรวจเลือด(ก่อนรับยา PEP จะต้องมีการตรวจเลือดยืนยันว่าเราไม่ได้มีการติดเชื้อ HIV มาก่อนหน้านี้และตรวจค่าไตค่าตับรวมถึงตรวจคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆด้วย) เมื่อแพทย์ได้ประเมินผลเลือดแล้วว่าไม่ได้มีข้อห้ามในการใช้ยา PEP แพทย์จะเลือกยา PEP สูตรที่เหมาะกับคนไข้และจ่ายยา PEP ให้คนไข้กลับไปทานที่บ้าน

ยา PEP กินยังไง กินนานแค่ไหน?

วิธีการใช้ยา PEP ให้ได้ผลดีที่สุดคือต้องกินยาให้เร็วที่สุดหลังมีความเสี่ยงมา(ไม่เกิน 72 ชั่วโมง) และกินยาอย่างสม่ำเสมอทุกวัน โดยกินเป็นเวลาเดิมต่อเนื่องกัน 28 วัน เมื่อทานยา PEP ครบ 28 วันแล้วแพทย์จะนัดคนไข้กลับมาตรวจเลือด 2 ครั้ง โดยครั้งแรกจะตรวจ HIV และครั้งที่สองจะนัดอีก 2 เดือนถัดไปเพื่อกลับมาตรวจคอนเฟิร์มผล HIV อีกครั้งรวมถึงตรวจคัดกรองการติดเชื้อซิฟิลิ

การกินยา PEP จะมีผลข้างเคียงอะไรบ้าง มีอันตรายหรือไม่?

ผลข้างเคียงที่อาจเจอได้ในผู้ที่กินยา PEP คือเรื่องของอาการคลื่นไส้ เวียนศีรษะ ท้องอืด อ่อนเพลีย อย่างไรก็ตามผลข้างเคียงเหล่านี้มักเป็นแค่ในช่วงระยะเวลาสั้นๆคือในช่วง 4-5 วันแรกของการทานยาและหลังจากนั้นอาการจะค่อยๆดีขึ้นและหายไปเอง ทั้งนี้สูตรยา PEP ที่เลือกใช้ก็มีผลกับผลข้างเคียงและประสิทธิภาพของยา เราสามารถสอบถามรายละเอียดประเด็นนี้กับแพทย์ผู้จ่ายยาได้ครับ

สรุปคือยา PEP เป็นยาที่มีความปลอดภัยสูงและไม่มีผลข้างเคียงในระยะยาวครับ

ยา PEP ราคาเท่าไหร่

สำหรับผู้ที่ได้รับความเสี่ยงในการติดเชื้อ HIV จะต้องเข้ารับการตรวจกับแพทย์เฉพาะทางให้ครบถ้วน ซึ่งเบื้องต้นจะต้องมีการตรวจหาเชื้อ HIV และตรวจหาไวรัสตับอักเสบบีก่อน ดังนั้น ราคาของการป้องกันจึงมีรายการอื่นๆ ที่นอกจากยา PEP ร่วมด้วย อีกทั้ง ยา PEP เป็นยาที่มีราคาค่อนข้างสูง โดยจะอยู่ในราคาเริ่มต้นตั้งแต่ 1,200 บาทไปจนถึง 20,000 บาท ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมระหว่างตัวยากับผู้รับยาด้วยเช่นกัน

รับ ยา pep ได้ที่ไหนดี

รับ ยา PEP ได้ที่ไหนดี

ยา PEP ไม่สามารถหาซื้อได้ทางร้านขายยาทั่วไป เพราะถือเป็นยาอันตรายที่ควรได้รับการตรวจเลือดและจ่ายยาโดยแพทย์เฉพาะทางเท่านั้น โดยแพทย์จะทำการซักประวัติ และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่ามีความจำเป็นต้องรับยา PEP หรือไม่ นอกจากนี้ ยังต้องตรวจดูเชื้อ HIV และตรวจว่ามีประวัติการเป็นโรคไวรัสตับอักเสบบีหรือไม่ รวมถึงตรวจการทำงานของตับและไตด้วยว่าปกติดีหรือไม่ จากนั้นแพทย์จะทำการพิจารณาเลือกยาที่เหมาะสมกับผู้รับยาเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพที่ดีที่สุดและไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย

สำหรับ ใครที่อาจมีความเสี่ยงต้องการรับยา PEP สามารถเข้ารับการตรวจหรือปรึกษาแพทย์ได้ที่

  • คลินิกนิรนาม ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย
  • โรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชน
  • คลินิกเฉพาะทาง สามารถค้นหาสถานที่ใกล้คุณได้ที่ https://hivthai.org/

หลังรับประทานยา PEP แล้วต้องไปพบแพทย์อีกไหม

เมื่อผู้ได้รับความเสี่ยงรับประทานยา PEP ครบทั้งหมด 28 วันเรียบร้อยแล้ว จะต้องไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาเชื้อไวรัส HIV ซ้ำอีก 2-3 ครั้ง โดยแพทย์จะนัดเป็น 1 เดือน 3 เดือนและ 6 เดือนตามเวลา ให้สามารถมั่นใจได้ว่าผู้ที่ได้รับความเสี่ยงไม่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อ HIV อีกต่อไป

ถ้าไม่ได้รับประทาน ยา PEP ตามกำหนดจะเป็น HIV ไหม

ถึงแม้ว่ายา PEP จะมีข้อกำหนดชัดเจนว่าต้องรับประทานตามกำหนดทุกวันเพื่อป้องกันความเสี่ยงให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด แต่หากเกิดเหตุสุดวิสัยทำให้พลาดการรับประทานยาตามกำหนดไป ก็ยังไม่ถือว่าเป็น HIV เพียงแต่ประสิทธิภาพในการป้องกันจะน้อยลง ทั้งนี้ จะต้องตรวจผลซ้ำอีกครั้งตามที่แพทย์นัดเพื่อความมั่นใจและแน่ชัดว่าในร่างกายยังมีเชื้อ HIV อยู่หรือไม่

อย่างไรก็ตาม ใครที่มีความเสี่ยงอาจได้รับการติดเชื้อ HIV เข้าไปแล้ว และทำการตรวจและรับยา PEP มารับประทาน ก็ควรที่จะรับประทานยาอย่างเคร่งครัด เพราะการรับประทานยาตรงเวลาและครบกำหนดจะช่วยลดความเสี่ยงของการติดเชื้อ HIV ได้ดีมากขึ้น โดยสามารถเลือกเวลาที่สะดวกต่อการรับประทานมากที่สุดได้เพื่อให้มั่นใจว่าใน 28 วันนี้จะสามารถกินยาได้ครบในเวลาเดิมทุกวัน

สรุป ยา PEP ช่วยป้องกัน HIV ได้จริงหรือไม่

การเกิดความเสี่ยงในการติดเชื้อ HIV เป็นเรื่องที่หลายคนไม่ต้องการให้เกิดขึ้นอย่างแน่นอน ดังนั้น การมีตัวช่วยอย่างยา PEP เข้ามา ก็จะช่วยลดความเสี่ยงให้น้อยที่สุดได้ เนื่องจากประสิทธิภาพของยา PEP นั้นถูกทดสอบมาแล้วว่า มีความสามารถป้องกันความเสี่ยงได้จริง เพียงแต่สิ่งสำคัญในการรับยา PEP เลยก็คือ การตรวจร่างกายเพื่อให้ได้สูตรยาที่เหมาะสมกับผู้รับมากที่สุดและดึงเอาผลลัพธ์ที่ดีที่สุดออกมา ดังนั้น จึงควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ในการรับประทานยาอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ยาออกฤทธิ์ได้ดีที่สุด